ทหารอิสราเอลบุกช่วยผู้สูญหายจากเหตุการณ์สู้รบกันระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ได้ 30 คน เป็นแรงงานไทย 14 คน ที่เหลือเป็นชาวอิสราเอล หลังศูนย์บัญชาการฉุกเฉินแห่งชาติของอิสราเอลพบเบาะแสอยู่ในเมืองทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ขณะที่มีแรงงานไทยสังเวยการสู้รบกันอีก 2 ศพคาฟาร์มผัก หลังนายจ้างสั่งให้ไปเก็บแตงกวาญี่ปุ่น รวมยอดคนไทยเสียชีวิต 20 ศพ ส่วนแรงงานไทยที่ขอหนีภัยสงครามกลับภูมิลำเนาลอตแรก 15 คน ถึงแผ่นดินไทยช่วงสายวันที่ 12 ต.ค. ผวจ.ขอนแก่นเยี่ยมปลอบขวัญให้กำลังใจพ่อที่สูญเสียลูกชาย 2 คนพร้อมกันจากไฟสงครามแห่งความขัดแย้ง ซึ้งใจล่ามไทยช่วยเหลือแรงงานถูกยิง หอบหนีไปพักบ้านซื้อเสื้อผ้าให้-พาหาหมอ แม่ใจสลายร่ำไห้โฮลูกตายคาแคมป์คนงาน ศพถูกเผาเหลือแต่โครงกระดูก หลังเพื่อนชวนหนีแต่ไม่ยอมไปด้วย เผยนาทีแรงงานไทยเฉียดตายถูกทหารอิสราเอลยิงถล่มรถ เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกลุ่มฮามาส กระสุนเจาะคอ 1 ในแรงงานอาการสาหัส
สถานการณ์แรงงานไทยท่ามกลางไฟสงครามแห่งความขัดแย้งจนเกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังฮามาสยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง โดยสองฝ่ายยังเปิดฉากโจมตีกันด้วยอาวุธเป็นระยะ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้นับพันคน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ทั้งยังมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกันอีกไม่น้อย ขณะเดียวกันทหารอิสราเอลสามารถช่วยเหลือชาวต่างชาติและแรงงานชาวไทยที่หลบหนีภัยการสู้รบไปแอบซ่อนอยู่ในสถานที่ปลอดภัยออกมาได้ 30 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทย 14 คน ขณะที่มีแรงงานไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ศพ รวมเป็นผู้เสียชีวิต 20 ศพ และยังมีแรงงานไทยอีกมากที่ขาดการติดต่อและหายตัวไปท่ามกลางความห่วงใยของญาติพี่น้องในเมืองไทย
แรงงานไทยโดนยิงดับอีก 2 ศพ
ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 ต.ค. นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงสถานการณ์แรงงานไทยในอิสราเอลว่า ต้องขอแสดงความเสียใจ หลังจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้รับแจ้งว่ามีคนไทยเสียชีวิตอีก 2 ราย ทำให้ขณะนี้มีคนไทยเสียชีวิตรวม 20 ศพ ผู้บาดเจ็บเพิ่มเติมอีก 4 ราย จากเดิม 9 ราย รวมเป็น 13 ราย ถูกจับเป็นตัวประกันเพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 14 ราย มีผู้แสดงความประสงค์กลับไทยเพิ่มขึ้นรวม 5,019 ราย ไม่ประสงค์กลับ 61 ราย (สถานะคืนวันที่ 10 ต.ค.) ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 ต.ค. น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ไปเยี่ยมคนไทยที่บาดเจ็บสาหัส ที่โรงพยาบาลและไปเยี่ยมแรงงานไทยที่อพยพออกมาแล้ว
ไม่ยืนยันข่าวดีโลกโซเชียล
นางกาญจนากล่าวต่อว่า ส่วนที่มีข่าวทางโซเชียลว่ามีการช่วยเหลือคนไทยอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มเติม 14 ราย สถานทูตฯตรวจสอบแล้วไม่ได้อยู่ในกลุ่มคนไทยที่มีรายชื่ออยู่ในระบบ ที่ผ่านมากองทัพอิสราเอล และบริษัทจัดหางานได้เร่งอพยพคนต่างๆ รวมทั้งแรงงานไทย ออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้หลายร้อยคน ให้ไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวและนิคมเกษตรกรรมในพื้นที่ปลอดภัยในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ของอิสราเอลแล้ว
คนไทยลอตแรกถึงไทยเวลา 10.35 น.
โฆษก กต.กล่าวว่า สำหรับการอพยพคนไทยกลับในวันที่ 12 ต.ค.เวลา 10.35 น. จะมีคนไทย 15 คน เดินทางกลับถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นกลุ่มแรก ด้วยสายการบินอิสราเอล แอร์ไลน์ จะมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆไปรอรับ ส่วนวันที่ 18 ต.ค.ยังคงยืนยันจองเครื่องบินพาณิชย์เพื่อไปรับคนไทยอีก 80 คน ขณะที่เครื่องบินของกองทัพอากาศ อยู่ระหว่างการขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าของประเทศต่างๆ แต่ยืนยันว่าจะอพยพคนไทยออกมาให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ สถานทูตฯที่มีข้าราชการประจำ 7 คน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่ง กำลังเร่งประสานในทุกช่องทาง กต. จะส่งเจ้าหน้าที่บางคนมีประสบ การณ์อพยพคนไทยเดินทางไปช่วยเสริมภารกิจ ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าบางประเทศสามารถอพยพคนออกเสร็จสิ้นได้อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เป็นประเทศยุโรปมีระยะทางใกล้กับอิสราเอลและเป็นนักท่องเที่ยวหรือพลเรือนทั่วไปไม่ใช่แรงงานในพื้นที่เสี่ยงภัย
ห่วงเสบียงอาหารเริ่มวิกฤติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวประกันที่ถูกจับตัวไป ยืนยันถึงความปลอดภัยได้หรือไม่ นางกาญจนาตอบว่า ยืนยันยากมาก เพราะอยู่ในสถานการณ์สงครามจำนวนตัวประกันจากทุกชาติ รวมถึงชาวอิสราเอลรวมประมาณ 150 คน คาดว่ากระจายอยู่ตามที่ต่างๆ แต่ไม่สามารถยืนยันถึงความปลอดภัยของทั้งหมดได้ เมื่อถามว่า ขณะนี้มีรายงานว่ามีแรงงานคนไทยหลายคนอยู่ในรัศมีพื้นที่อันตราย เสบียงอาหารเริ่มขาดแคลนแล้วจะช่วยเหลืออย่างไร นางกาญจนาตอบว่า หลังจากที่มีข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มและถูกจับกุมเพิ่มเติม เอกอัครราชทูตฯได้ติดต่อกับทางการอิสราเอลในทันที แสดงความกังวลต่อความล่าช้าในการอพยพคนออกมาจากพื้นที่เสี่ยงภัย ฝ่ายอิสราเอลก็แสดงความเสียใจไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ขอให้เข้าใจถึงข้อจำกัดจะพยายามอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องเสบียงน้ำดื่ม ทราบว่า มีความยากลำบาก การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องมาจากทางการอิสราเอลที่อยู่ในพื้นที่
นายกฯสั่ง กต.ขอมิตรประเทศช่วย
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐ มนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว. คลัง สั่งการให้เพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลช่วยเหลือคนไทย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของประชาชนคนไทย ในการเตรียมแผนอพยพคนไทยนายกฯได้สั่งการให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเสริมข้าราชการไปสนับสนุนข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ในภารกิจช่วยเหลือพี่น้องชาวไทย ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันเป็นกำลังใจให้ญาติ เพื่อนพี่น้องชาวไทยที่กำลังจะกลับมา และอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือดูแลคนไทยทุกคน
ยอดแรงงานขอกลับบ้าน 5,174 คน
เวลา 15.00 น. นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงอีกครั้งว่า เมื่อเวลา 13.00 น. น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รายงานสถานการณ์ล่าสุดให้ที่ประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ เป็นประธาน ว่า มีคนไทยลงทะเบียนประสงค์ขอกลับบ้านเพิ่มเป็น 5,174 คน ไม่ขอกลับเพิ่มเป็น 64 คน การอพยพคนไทยกลุ่มแรก 15 คน มี 2 คน ที่ขอรถเข็น กลุ่มที่ 2 จะเดินทางโดยเครื่องบินแอร์บัสของ ทอ.บรรจุคนสูงสุดได้ 140 คน แต่อาจโดยสารกลับได้ 120 คน เพราะมีเจ้าหน้าที่รวมด้วยจะบินออกจากอิสราเอลวันที่ 15 ต.ค.ถึงไทยวันที่ 16 ต.ค. เวลา 04.00 น. เที่ยวบินถัดไปจะนำคนไทย 80 คน มากับสายการบินอิสราเอล แอร์ไลน์ เที่ยวบิน LY 083 วันที่ 18 ต.ค. ถึงท่าอากาศ ยานสุวรรณภูมิวันที่ 19 ต.ค. เวลา 11.00 น. ทั้งยังได้เตรียมเครื่องบิน ทอ.นำคนไทยกลับในวันที่ 24 ต.ค.ด้วย สถานเอกอัครราชทูตไทยฯกำลังหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อพยายามนำคนไทยเดินทางโดยเครื่องบินพาณิชย์ออกมาให้ได้มากที่สุด ส่วนคนไทยที่อพยพข้ามแดนไปยังประเทศใกล้เคียง สถานเอกอัครราชทูตไทยในจอร์แดนและอียิปต์ พร้อมให้ความช่วยเหลือในเรื่องอาหารและน้ำดื่มแก่ทุกคน
ลดพิธีรีตองรับกลับสู่ภูมิลำเนา
นายนฤชัย นินนาท รองอธิบดีกรมการกงสุล กล่าวว่า คนไทย 15 คนที่มาถึงวันที่ 12 ต.ค.พยายามทำให้ขั้นตอนต่างๆมีความรวดเร็วที่สุด ไม่มีพิธีรีตอง โดยจัดพื้นที่การให้สัมภาษณ์และแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเปิดโอกาสให้พูดคุยกับคนไทย จากนั้นจะนำไปขึ้นรถบัสที่กระทรวงคมนาคมจัดเตรียมไว้ เดินทางไปยังสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสุขภาพ ขณะที่กระทรวงแรงงานจะดำเนินการเรื่องเงินชดเชยแก่แรงงาน ทั้งนี้ญาติของแรงงานไทยสามารถไปรอรับได้ เมื่อเสร็จขั้นตอนต่างๆแล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะช่วยนำคนไทยเหล่านี้เดินทางกลับภูมิลำเนา ทั้งนี้ ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ กต.กลุ่มแรก รวม 4 คน จะเดินทางไปยังอิสราเอลในค่ำวันเสาร์ 14 ต.ค. เพื่อช่วยภารกิจของสถานทูตฯด้วย
กองทุนฯ จ่ายชดเชย 1.5 หมื่น บ.
ขณะที่นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ตรวจสอบกรณีของคนไทย 15 คน ที่จะมาถึงกลุ่มแรกแล้ว ทั้งหมดเป็นสมาชิกกองทุนจัดหางานไปทำงานต่างประเทศจะได้รับสิทธิจากกองทุน ขั้นแรกทางกองทุนฯจะจ่ายเงินสงเคราะห์จำนวน 15,000 บาท ให้ที่สถาบันบำราศนราดูร ส่วนผู้บาดเจ็บหรือพิการ กระทรวงจะรับคำร้องไว้และพิจารณาต่อไปว่าจะจ่ายเงินให้อีก 15,000 บาทหรือไม่ เมื่อถามถึงกรณีที่มีแรงงานไทยที่อพยพมาจากพื้นที่เสี่ยงแล้ว ร้องเรียนว่ายังไม่ได้รับค่าจ้าง นายสมาสภ์ตอบว่า จะให้ทูตแรงงานในอิสราเอลเป็นผู้ดำเนินการ แต่ขอยืนยันว่ากระทรวงจะไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้ ขอให้แรงงานไทยสบายใจว่า หากไปทำงาน ต้องได้ค่าจ้างอย่างแน่นอน ยืนยันว่าจะช่วยคนไทยทุกคนทั้งแรงงานที่เข้าไปโดยถูกกฎหมายและแรงงานบางส่วนที่ผิดกฎหมายด้วย
เปิดรายชื่อผู้อพยพเที่ยวบินแรก
สำหรับรายชื่อผู้ที่จะเดินทางกลับประเทศไทยด้วยเครื่องบินของสายการบินอิสราเอล เที่ยวบิน LY083 ออกจากอิสราเอลวันที่ 11 ต.ค. ประกอบด้วย 1.นายสมมา แซ่จ๊ะ 2.นายจิรายุ สุกใส 3.นายวิมาน วงศ์จำปา 4.นายกรัชกร พุทธสอน 5.นายอนุชา บุญญะสาร 6.นายกิตติพงษ์ ไชยโก 7.นายสมบูรณ์ แซ่ว่าง 8.นายจันทร์ดี แซ่ลี 9.นายสุพิพัฒน์ กงแก้ว 10.นายสมพร คาระบุตร 11.นายธนศักดิ์ จันทร์ดำ 12.นายสถิตย์ พรมอนารถ 13.นายไกรสร บัวฝาย 14.นายณรงค์ชัย ลีละครจันทร์ และ 15.นายวิชัย คำศรี
“สุทิน” ยันตัวประกันไทยปลอดภัย
นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวว่า อิสราเอลกับกระทรวงการต่างประเทศพูดคุยกัน และอนุญาตให้นำเครื่องบินไปรับคนไทยในระดับหนึ่ง รอบแรก 15 คน บินกลับโดยเครื่องบินพาณิชย์ รอบต่อไปวันที่ 15 ต.ค. ทอ.จะบินไปรับและคงต้องบินไปรับหลายรอบ อาจจำเป็นต้องรวมกับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เพื่อให้ทันกับคนที่แสดงความจำนงกลับ 3,000 กว่าคน ไทยเตรียมพร้อมเครื่องบินหลายวันแล้ว ยืนยันการช่วยเหลือไม่ช้า ต้องเห็นใจทางการอิสราเอลเพราะเขาอยู่ในสถานการณ์สงคราม แรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันได้รับการยืนยันว่าทุกคนปลอดภัย แต่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว
นายกฯขอผู้นำมาเลย์ยื่นมือช่วย
เมื่อเวลา 18.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ขณะอยู่ระหว่างการเยือนมาเลเซียว่า จากการหารือกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายกฯมาเลเซียมีความห่วงใยคนไทยในพื้นที่เหตุความรุนแรงในตะวันออกกลาง จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมาเลเซียมีความสัมพันธ์ที่ดี แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงและมีความละเอียดอ่อน ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด นอกจากนี้ยังประสานกับประเทศอื่นๆให้ช่วยเหลือคนไทยที่อยู่ในพื้นที่ด้วย
15 คนลอตแรกยังไม่พร้อม
ต่อมาเวลา 21.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลว่า ได้รับรายงานว่ามีคนไทยในอิสราเอลและพื้นที่ใกล้เคียงประสงค์จะกลับไทยกว่า 5,000 คน ยอมรับว่าสถานการณ์แย่ลงมีจรวดยิงกันตลอดเวลา เครื่องบินของไทยที่จะรับคนไทย 15 คนกลับบ้านวันที่ 12 ต.ค. ยังไม่พร้อม ผบ.ทบ.ได้ประสานกองทัพอิสราเอลขอลำเลียงคนไทยเข้ามาสถานทูต แต่สิ่งที่สำคัญคือสถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะอพยพคน 5,000 คนให้ได้ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด ปัญหาใหญ่คือต้องมีเครื่องบินเพียงพอ ได้ประสานเครื่องบินแอร์เอเชีย 2 ลำ หรือมากกว่า นกแอร์อย่างน้อย 2 ลำ การบินไทยกำลังพิจารณา พยายามนำเครื่องบินมาให้ได้เร็วที่สุด เพื่อรับคนไทยออกจากอิสราเอลไปประเทศข้างเคียง เครื่องบินรัฐมีอยู่ 5 ลำ รวมแล้วเตรียมไว้ 9 ลำ หรือมากกว่า ไม่แน่ใจว่าน่านฟ้าจะเปิดนานเท่าไหร่ และการลำเลียงคนเข้ามาสนามบินได้มากเท่าไหร่ เพราะหากนำเครื่องบินมาจอดทิ้งไว้ แล้วไม่สามารถลำเลียงคนมาได้จะเปล่าประโยชน์ ขอย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของคนไทยในอิสราเอลสูงที่สุด ไม่ได้นิ่งนอนใจ และประสานงานอยู่ตลอดต่อเนื่องกับทุกภาคส่วน ขอขอบคุณภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการช่วยนำคนไทยออกมา
สั่งหาเครื่องบินพาณิชย์รับ 5 พันคนกลับ
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีที่อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ประเทศมาเลเซียสั่งการด่วนข้ามประเทศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดแผนดูแลคนไทยที่ต้องการกลับประเทศจากเหตุการณ์ความไม่สงบเร็วที่สุด ให้กระทรวงการ ต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม เร่งเจรจากับการบินไทย สายการบินแอร์เอเชีย สายการบินพาณิชย์อื่นเป็นการด่วน เร่งระดมจัดส่งเครื่องบินจำนวนมากที่สุดให้พอเพียงกับการไปรับคนไทยทั้ง 5 พันกว่าคน ที่ต้องการเดินทางออกจากบริเวณเหตุการณ์ความไม่สงบที่อิสราเอล กลับสู่มาตุภูมิโดยเร็วที่สุด ย้ำว่านาทีนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมแรงร่วมใจกันพุ่งเป้าไปที่การพาคนไทยกลับบ้านให้เร็วที่สุด ปลอดภัยที่สุด แผนการจัดหาเครื่องบินเพิ่มต้องชัดเจนภายในวันที่ 12 ต.ค. กระทรวงทบวงกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องต้องเร่งจัดทำแผนดูแลช่วยเหลือและเยียวยาคนไทยที่ยังติดอยู่ที่อิสราเอล คนไทยที่เดินทางกลับมาถึงบ้านเกิดแล้วอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูงสุด
ผวจ.เยี่ยมพ่อที่สูญเสียลูก 2 คน
ที่ จ.ขอนแก่นเมื่อบ่ายวันที่ 11 ต.ค. นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น นำคณะเดินทางไปที่บ้านเลขที่ 34/1 ม.6 บ.โคกสูง ต.โนนธาตุ อ.หนองสองห้อง เยี่ยมให้กำลังใจนายรำเพย กุสะรัมย์ อายุ 62 ปี บิดานายอภิชาตและนายพงษ์เทพ กุสะรัมย์ สองพี่น้องที่ไปทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่อิสราเอลและเสียชีวิตจากเหตุการณ์สู้รบทั้งคู่ และยังไปเยี่ยมให้กำลังใจนางหมวย นาจันทร์ อายุ 57 ปี ญาตินายรำเพยมารดานายสุรศักดิ์ หรือสด นาจันทร์ อายุ 27 ปี ที่เสียชีวิตจากเหตุสู้รบ นางหมวยยังมีบุตรชายอีกคนที่ไปทำงานอิสราเอล เป็นพี่ชายของนายสุรศักดิ์ทำงานอยู่ห่างจากที่ทำงานน้องชายประมาณ 5 กม. แต่ปลอดภัยไม่ได้รับอันตราย
ให้รอตรวจอัตลักษณ์ยืนยัน
นายไกรสรกล่าวว่า แม้ครอบครัวจะบอกว่า ทั้ง 3 เสียชีวิตแล้วจากการที่เพื่อนๆของลูกส่งข่าวมา แต่แนวทางการปฏิบัติต้องรอการยืนยันชัดเจนจากกระทรวงการต่างประเทศ การพิสูจน์อัตลักษณ์ต่างๆ ตามขั้นตอน หวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ต่างๆให้แรงงานไทยชาวขอนแก่นทุกคนที่ไปทำงานที่อิสราเอลปลอดภัย ยืนยันว่าจะพาคนขอนแก่นกลับบ้านทุกคน รอบแรกของเที่ยวบินที่ทางการไทยจัดไปรับในวันที่ 14 ต.ค.ยังไม่มีชาวขอนแก่นเดินทางกลับมาด้วย หากมีการยืนยันว่าคนขอนแก่นได้กลับมาวันไหน จะจัดรถพาครอบครัวไปรับที่สนามบินทันที สำหรับข้อกังวลเรื่องผีน้อยที่อาจไม่อยู่ในรายชื่อ 1,165 คน ตามข้อมูลที่ทางแรงงานกำหนด ได้ให้ทุกอำเภอเร่งสำรวจข้อมูลให้ครบถ้วนและถูกต้องเพื่อที่การให้ความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานจะเข้าถึงทุกคนอย่างรวดเร็ว
แจงสิทธิประโยชน์ที่แรงงานได้รับ
ขณะที่นางอรวรรณ หินตะ แรงงานจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับกรณีคนงานที่คาดว่าเสียชีวิตในอิสราเอล ต้องได้รับการยืนยันจากสถานทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ตามขั้นตอนการดำเนินงาน โดยนายอภิชาติ กุสะรัมย์ จะได้รับเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ของกรมการจัดหางานกรณีเสียชีวิต 40,000 บาท กรณีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฝ่ายปาเลสไตน์ จะได้รับค่าตอบแทนจาก Natio nal insurance Institute ภรรยาและบุตรของผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือทุกเดือนจนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ หรือบุตรมีอายุครบ 18 ปี ภรรยาได้รับประมาณ 60% ของ 6,000 เชคเกลทุกเดือน หรือประมาณ 33,000 บาท ส่วนบุตรได้รับประมาณ 10-20% ของ 6,000 เชคเกล หรือประมาณ 6,000-12,000 บาทต่อเดือน
ใช้เอกสารจากสถานทูตไทยยืนยันสิทธิ์
นางอรวรรณกล่าวต่อว่า นายอภิชาติเคยเป็นผู้ประกันตน ม.33 มีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันสังคม 26,079 บาท ยังไม่รวมดอกผลและเงินปิซูอิม (Sevice Pay) เป็นเงินชดเชยจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้างหรือลูกจ้างเสียชีวิต ให้แก่คู่สมรสตามกฎหมายหรือเป็นที่รับรู้ โดยนายจ้างต้องจ่ายเท่ากับอัตราค่าจ้างปกติ 1 เดือนต่อปี ส่วนนายพงษ์เทพจะได้เงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ของกรมการจัดหางานกรณีเสียชีวิต 40,000 บาท เงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันสังคม 14,712.18 บาทตามสิทธิ์ผู้ประกันตน ม.33 ยังไม่รวมดอกผล ส่วนนายพิชิต นาจันทร์ จะได้รับเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศของกรมการจัดหางานกรณีเสียชีวิต 40,000 บาท เงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันสังคมอีก 44,750.21 บาท เนื่องจากเคยเป็นผู้ประกันตน ม.33 ยังไม่รวมดอกผล กรณีเสียชีวิตต้องได้รับใบมรณบัตรจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลก่อน ครอบครัวถึงจะไปยื่นเรื่องขอรับเงินกองทุนและเงินสิทธิประโยชน์ในประเทศอิสราเอลที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพของกองทุนประกันสังคมยื่นที่สำนักงานประกันสังคม
สุดซึ้งใจล่ามไทยช่วยยามยาก
หลังเสร็จพิธี น.ส.สุพัตราเผยว่า เมื่อทราบว่านายผดุงปลอดภัยตนกับนางบุญโฮมก็สบายใจ หลังนายผดุงถูกยิงบาดเจ็บ มีทหารอิสราเอลช่วยเหลือนำส่ง รพ.จนขาดการติดต่อไป และมีล่ามคนไทยชื่อ “แจ๋ม” ไปช่วยพาตัวออกจาก รพ.ไปอยู่ที่บ้าน เมื่อปลอดภัยนายผดุงจึงติดต่อกลับมาหาครอบครัว ช่วงที่ติดต่อนายผดุงไม่ได้ทางบ้านพากันตระเวนทำบุญกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายที่ บนบานศาลกล่าวให้ปลอดภัยและนายผดุงได้ลงชื่อขอกลับบ้านไว้ แต่ปรากฏว่ายังกลับไม่ได้เพราะยังบาดเจ็บและไม่มีที่นั่งบนเครื่องบินที่สะดวกสำหรับคนเจ็บ ส่วนการพักอยู่ที่บ้านของล่ามชาวไทยผู้เอื้ออารี นายผดุงเล่าให้ฟังว่า ล่ามซื้อเสื้อผ้าให้ พาไปหาหมอล้างแผล ต้องขอขอบคุณคุณแจ๋มมากๆ ซึ้งในน้ำใจที่สุดที่ได้ช่วยเหลือคนไทยด้วยกันยามตกทุกข์ได้ยาก ขณะที่นางบุญโฮมกล่าวว่า หากลูกชายกลับถึงบ้านและร่างกายแข็งแรงดีแล้วจะให้บวชแล้วแต่งงาน จากนั้นค่อยคิดหาทางไปทำงานที่ต่างประเทศตามที่ลูกชายต้องการอีกครั้ง
แม่ร่ำไห้โฮลูกถูกเผาเหลือแต่กระดูก
วันเดียวกันผู้สื่อข่าวไทยรัฐ จ.อุดรธานี เดินทางไปที่บ้านเลขที่ 152 หมู่ 8 บ้านโคกกลาง ต.ข้าวสาร อ.บ้านผือ ของนายศักดิ์สิทธิ์ จำปาสิม อายุ 38 ปี แรงงานไทยที่ถูกระบุว่าโดนกลุ่มฮามาสบุกเข้ามายิงและขว้างระเบิดเผาแคมป์ที่พัก ทำให้แรงงานไทยในแคมป์ถูกไฟเผาเหลือแต่โครงกระดูก พบนางถนอม จำปาสิม อายุ 55 ปี แม่นายศักดิ์สิทธิ์ นั่งอยู่กับญาติและเพื่อนบ้านที่มาให้กำลังใจ นางถนอมเล่าว่า มีลูก 2 คน นายศักดิ์สิทธิ์เป็นลูกคนโต รับผิดชอบดูแลลูกเมียกับคนในครอบครัว รวม 8 ชีวิต สมัครไปทำงานที่อิสราเอลในสวนส้มเขตฉนวนกาซา ได้เงินเดือน เดือนละ 4-5 หมื่นบาท มีสัญญาทำงาน 5 ปี ตอนนี้ทำได้ 4 ปีกว่าแล้ว กำหนดครบสัญญาเดือน มิ.ย.67 แต่จะไม่กลับบ้านขอต่อสัญญาอีก 3 เดือนเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ให้แม่แล้วถึงจะกลับ คุยกับลูกชายครั้งสุดท้ายวันที่ 3 ต.ค. จนเช้าวันที่ 7 ต.ค. ทราบข่าวว่าเกิดสงคราม แต่ลูกสะใภ้ยังติดต่อกับลูกชายได้ กระทั่งบ่ายวันที่ 7 ต.ค. ขาดการติดต่อ จนวันที่ 8 ต.ค.เพื่อนลูกชายชื่อกรวิทย์ไลน์มาบอกว่าให้ทำใจ เพราะลูกชายโดนยิงและถูกปาระเบิดใส่ที่พักจนไฟไหม้ เหลือแต่โครงกระดูกพร้อมกับเพื่อนคนงานรวม 5 ศพ แต่ตนยังหวังในปาฏิหาริย์ว่าลูกชายจะรอดชีวิต หลังกล่าวจบนางถนอมได้ร่ำไห้อย่างหนัก
เพื่อนชวนหนีตายจากแคมป์แต่ไม่มา
ต่อมาญาติวิดีโอคอลคุยกับนายกรวิทย์ แก้วเกิด อายุ 36 ปี ชาวนครราชสีมา เพื่อนร่วมงานของนายศักดิ์สิทธิ์ นายกรวิทย์เล่าถึงนาทีหนีตายว่า หลังจากกลุ่มฮามาสบุกเข้ามารอบแรก ชวนนายศักดิ์สิทธิ์ที่หลบภัยอยู่ในห้องหมายเลข 5 ให้หนีออกจากที่พักเพราะที่พักไม่น่าจะป้องกันระเบิดได้ แต่นายศักดิ์สิทธิ์ไม่ไปบอกว่าจะอยู่ในที่พักเพราะดูปลอดภัยกว่า ตนจึงออกไปซ่อนตัวที่หลุมหลบภัยข้างนอก ต่อมากลุ่มก่อการร้ายกลับมาอีกครั้งและกราดยิงคนงานพร้อมโยนระเบิดใส่ที่พักจนเกิดเพลิงไหม้ จากนั้นทหารอิสราเอลเข้ามาสู้รบไล่ผู้ก่อ การร้ายออกไป หลังเพลิงสงบจึงเข้าเคลียร์พื้นที่และพาตนไปดูว่าแต่ละห้องมีใครอยู่ชื่ออะไรบ้าง จึงเดินไปดูห้องหมายเลข 5 ที่นายศักดิ์สิทธิ์หลบอยู่พบโครงกระดูกรวม 5 โครง ที่คาดว่าเป็นคนไทย จึงเชื่อว่านายศักดิ์สิทธิ์เสียชีวิตแล้ว ส่วนอีก 10 ศพเป็นชาวเนปาลโดนยิงไม่โดนเผา กับมีคนงานอีก 4 คนถูกจับไปเป็นตัวประกัน
โดนระเบิดตายคาแปลงแตงกวา
ขณะที่ยังมีแรงงานไทยเสียชีวิตจากสงครามเพิ่มอีก 2 ศพ โดย 1 ใน 2 ศพ เป็นชาวอุดรธานี เปิดเผยโดยนายวีระพล รักเสมอวงศ์ เจ้าของเพจ “บ้านดุงอัปเดต” ที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้านดงแสนสุข ต.ดงเย็น อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ว่า มีแรงงานไทยชาว อ.บ้านดุง ไปทำงานการเกษตร เสียชีวิตจากการถูกระเบิดขณะออกไปเก็บผัก ชื่อนายศักดิ์สิทธิ์ โคตมี หรือโด้ อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93 บ้านดงแสนสุข ต.ดงเย็น นางบัวแพ แตงอ่อน อายุ 60 ปี แม่นายศักดิ์สิทธิ์ เผยทั้งน้ำตาว่า ลูกชายไปทำงานเกษตรที่อิสราเอลนาน 7 ปีแล้ว จนเมื่อเย็นวันที่ 10 ต.ค. ญาติโทร.มาแจ้งว่าลูกเสียชีวิตโดนระเบิดจากการต่อสู้กันของทหารอิสราเอลกับกองกำลังฮามาส ขณะไปเก็บแตงกวาญี่ปุ่นหรือซุกีนี่กับเพื่อนอีกคนที่แปลงแตงกวาหลังแคมป์คนงานตามคำสั่งของนายจ้าง แม้จะมีสถานการณ์รุนแรง
เหยื่อระเบิดอีกศพคนศรีสะเกษ
ส่วนผู้เสียชีวิตพร้อมนายศักดิ์สิทธิ์อีกคน คือนายพงษ์พัฒน์ สุชาติ แรงงานไทยชาว จ.ศรีสะเกษ นางวารุณี ดาวไวย ภรรยาผู้เสียชีวิต เล่าว่า สามีไปทำงานด้านเกษตรที่อิสราเอลตั้งแต่ปี 2563 สถานที่ทำงานอยู่ทางทิศใต้ของอิสราเอล ห่างจุดที่มีการสู้รบที่ฉนวนกาซาประมาณ 20 กิโลเมตร มีแรงงานไทยประมาณ 60 คนทำงานด้วยกัน ต่อมาวันที่ 10 ต.ค. นายสุรัตน์ สุชาติ อายุ 34 ปี พี่ชายสามี วิดีโอคอลมาแจ้งทางบ้านว่า นายพงษ์พัฒน์ โดนระเบิดตกใส่เสียชีวิตขณะเก็บแตงกวาญี่ปุ่นที่แปลงในสวนและตอนสายวันที่ 11 ต.ค.นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมคณะไปเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิต อยู่บ้านเลขที่ 130 หมู่ 17 บ้านกระแชงเมืองใหม่ ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ โดยได้โอบกอดนายไสวกับนางไพรวรรณ สุชาติ พ่อแม่ และ น.ส.วารุณี ปลอบขวัญให้กำลังใจ พร้อมกับวิดีโอคอลพูดคุยกับนายสุรัตน์ พี่ชายผู้เสียชีวิต ที่ยังอยู่ที่อิสราเอล นายสุรัตน์กล่าวว่าปลอดภัยดีและยังคงต้องทำงานเช่นเดิมโดยรอดูสถานการณ์ไปก่อน
งานก็ต้องทำแม้ระเบิดจะลงหัว
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแรงงานไทยในอิสราเอล ได้เปิดเผยภาพเพื่อนแรงงานไทยที่ได้รับการช่วยเหลือจากทหารอิสราเอลอย่างปลอดภัยและเผยแพร่คลิปเหตุการณ์ต่อสู้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “งานก็ต้องทำแม้ระเบิดจะลงหัว” ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายกอบโชคชีพ โพธิ์สอน รองประธานสภา อบต.สำราญใต้ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะเครือข่ายยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จ.กาฬสินธุ์ ว่า ใน อ.สามชัยมีแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอล 4 คน ติดต่อได้แล้ว 1 คนคือ นายสุดใจ คงบรรจบ อยู่บ้านเลขที่ 60 หมู่ 2 ต.สำราญ ไปทำงานเลี้ยงสัตว์ที่เมืองเคฟา อิสเอลฟ์ ไม่ประสงค์เดินทางกลับเพราะเพิ่งทำงานได้ 5 เดือน อีก 3 คนยังติดต่อไม่ได้ นายสุดใจคอยแจ้งข่าวเหตุการณ์มาเป็นระยะๆว่า เพื่อนแรงงานไทยที่อยู่ในพื้นที่สู้รบได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครองจากทหารอิสราเอล ขณะนี้พักอยู่ในที่ปลอดภัย รอเดินทางกลับบ้าน นายสุดใจยังได้ส่งภาพเหตุการณ์สู้รบกันมาให้ดู เช่นภาพแรงงานไทยที่อยู่ใกล้จุดสู้รบได้พากันหอบสัมภาระต่างๆออกจากแคมป์คนงานไปหลบในสถานที่ปลอดภัย เป็นภาพที่แชร์กันในหมู่แรงงานไทยกลุ่มต่างๆที่มีความห่วงใยซึ่งกันและกัน
ต่างห่วงใยกันในสถานการณ์ยากลำบาก
นายกอบโชคชีพกล่าวอีกว่า นายสุดใจยังเล่าด้วยว่า อยู่ห่างจากฉนวนกาซาประมาณ 15 กม.แต่มั่นใจว่าจะไม่ได้รับอันตรายจากการสู้รบ ทว่าทุกครั้งที่มองขึ้นไปบนท้องฟ้า เห็นวิถียิงระเบิดของกลุ่มฮามาส อดหวาดกลัวไม่ได้ งานก็ต้องทำ ระเบิดก็จะลงหัว มีโอกาสติดต่อหาเพื่อนแรงงานไทยในพื้นที่ใกล้จุดเกิดเหตุด้วยความเป็นห่วง และไลฟ์สดกับเพื่อนแรงงานไทยที่อยู่ในหลุมหลบภัย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือแรงงานไทยเหล่านี้กลับประเทศโดยเร็วเพราะเหตุการณ์รุนแรงและน่ากลัวมาก
330 แรงงานไทยหาย–ติดต่อไม่ได้
ที่ จ.นครพนม มีชาวนครพนมที่ไปเป็นแรงงานไทย ในอิสราเอลกว่า 2 พันคน หลายร้อยคนไปทำงานอยู่ในเขตชายแดนพื้นที่สงครามและบางส่วนสูญหายขาดการติดต่อกับทางบ้านหรือหลบหนีภัยออกจากพื้นที่ จนญาติไม่ทราบข่าวคราวกว่า 330 คน ในจำนวนนี้มีนางเนตรนภา โฮมสร อายุ 38 ปี ชาวบ้านหนองเดิ่นพัฒนา ต.บ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม ที่น้องชาย 3 คนไปทำงานในอิสราเอล หวังหาเงินสร้างฐานะ คือ นายเศรษฐา โฮมสร อายุ 36 ปี นายเจษฐา โฮมสร อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นฝาแฝด และนายอนุวัต โฮมสร อายุ 32 ปี โดยนายอนุวัตเพิ่งไปทำงานได้แค่3เดือน ยังมีภาระหนี้สินค่าใช้จ่ายในการเดินทางนับแสนบาท
แม่รอฟังข่าวลูกรอดชีวิตหรือไม่
ที่ จ.บุรีรัมย์ นางเอี้ยง เสไธสง อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 89 ม.13 บ้านหัวสะพาน ต.บ้านยาง อ.พุทไธสง แม่ของนายอาทิตย์ เชื้อทอง อายุ32ปี แรงงานไทยในอิสราเอล เป็นอีกคนที่ยังเฝ้าติดตามข่าวจากหลายสำนักและคอยลุ้นว่าจะได้ยินชื่อลูกชายว่ารอดชีวิตหรือไม่ หลังจากติดต่อลูกไม่ได้ตั้งแต่วันเกิดสงคราม 7 ต.ค. นางเอี้ยงเล่าว่า ลูกไปทำงานได้ 5 ปี หลังเกิดเรื่องไม่สามารถติดต่อลูกได้ ไม่มีเพื่อนลูกคนใดแจ้งมาว่าอยู่ที่ไหน ทำให้ครอบครัวกังวลเกรงว่าจะได้รับอันตราย จึงประสานเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดบุรีรัมย์และโพสต์เฟซบุ๊กตามหาลูกชาย ที่หายตัวไปในสงคราม ล่าสุดสื่ออิสราเอล The Times of Israel รายงานสถานการณ์ว่ากองกำลังอิสราเอลสามารถระบุสถานะของตัวประกัน 30 คน ได้ในคิบบุตซ์ ไอน์ ฮัชโลซา (Kibbutz Ein Hashlosha) ทางตอนใต้ของอิสราเอล ถึงกลุ่มตัวประกันที่หายไปว่า ยังมีชีวิตอยู่เป็นชาวอิสราเอล 16 คน เป็นแรงงานชาวไทย 14 คนที่สูญหายไป เจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลือพบทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่และปลอดภัยดี พยายามมองบุคคลในภาพว่าจะมีลูกชายตัวเองอยู่ในนั้นหรือไม่ แต่ไม่พบและไม่มีชื่อลูกชาย รู้สึกเป็นห่วงมาก อยากให้ลูกปลอดภัยและให้กลับมาเมืองไทย
หนุ่มม้งแรงงานเกษตรโดนยิงขา
ที่ จ.ตาก นายเอกสิฏฐ์ วิไลศิลป์ นอภ.วังเจ้า พร้อมด้วยผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บ้านเลขที่ 144 บ้านวังน้ำเย็น หมู่ที่ 8 ต.นาโบสถ์ อ.วังเจ้า ของนายสมมา แซ่จ๊ะ ชาวม้งที่เป็นแรงงานไทยไปทำงานเกษตรที่อิสราเอลและบาดเจ็บโดนยิงที่ขาซ้าย จากเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้และมีกำหนดเดินทางกลับไทยชุดแรกวันที่ 12 ต.ค. ผู้สื่อข่าวได้วิดีโอคอลพูดคุยสอบถามอาการบาดเจ็บจากนายสมมา ที่นอนพักรักษาตัวอยู่และอาการปลอดภัย เจ้าตัวเล่าเหตุการณ์ว่าช่วงเช้าวันเกิดเหตุมีการสู้รบกัน นายจ้างจึงให้ตนกับเพื่อนแรงงานไทยรวม 9 คน มาพักหลบภัยที่บ้านนายจ้างตอนกลางวันนายจ้างพาขึ้นรถกระบะสีขาวจะไปกินข้าวที่แคมป์งาน ห่างประมาณ 10 กม.
เล่านาทีเฉียดตาย จนท.ยิงถล่มรถ
นายสมมาเล่าอีกว่า ระหว่างทางเจอเจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจจุดสกัดบนถนนและเห็นรถที่นั่งมาเป็นรถสีขาวลักษณะเดียวกับกลุ่มฮามาสทั้งยังมีกลุ่มคนนั่งที่ท้ายกระบะเหมือนกัน จึงยิงปืนเข้าใส่รถทันที ตอนแรกคิดว่าเสียงประทัด นายจ้างซึ่งเป็นอดีตทหารมีความชำนาญในภูมิประเทศ จึงเลี้ยวรถหลบหนีแบบยุทธวิธีแต่ยังถูกยิงไล่หลังตามมา ตนถูกกระสุนปืนที่ขา เพื่อนหลายคนโดนกระสุนปืนบาดเจ็บ มีคนหนึ่งโดนยิงเข้าที่คออาการสาหัส เมื่อขับรถหลบหนีมาถึงหมู่บ้านยังถูกเจ้าหน้าที่ทางการอิสราเอลยิงปืนใส่เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นกลุ่มฮามาส คนในรถจึงพากันตะโกนออกไปว่า “Thailand Thailand” ทำให้ฝ่ายป้องกันพื้นที่หยุดยิงและเข้ามาให้การช่วยเหลือ รู้สึกโชคดีที่ยังรอดชีวิตได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน
วอนทางการช่วยพ้นแดนอันตราย
ที่ จ.มหาสารคาม นายวิทยา มหาวงค์ แรงงานไทยในประเทศอิสราเอล ได้วิดีโอคอลมาหาภรรยาชื่อ น.ส.สุจิตรา อุดตะกะ อยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 11 ต.กุดปลาดุก อ.ชื่นชม ให้ช่วยประสานทางการมาช่วยเหลือ ระบุว่าตนและแรงงานไทยที่อยู่ในพื้นที่สีแดง พักอยู่ในที่พักที่เหมือนตู้คอนเทนเนอร์ ห่างฉนวนกาซาแค่ 5 กม. และยังมีการสู้รบกันต่อเนื่องมีเสียงปืนเสียงจรวดเสียงระเบิดดังตลอดเวลา มีกลุ่มฮามาสบุกกราดยิงไปทั่ว อาหารการกินหายาก แต่ยังดีมีนายจ้างเอามาม่า ไข่ ผลไม้มาให้ ในที่พักมีคนไทยอยู่ด้วยกันประมาณ 5 คน ได้แจ้งไปทางสถานทูตไทยในอิสราเอลแล้ว ได้รับคำตอบว่ากำลังทยอยช่วยขอให้รอและนายจ้างก็ยังให้ทำงานเก็บแตงเก็บมะเขือเทศ ตอนนี้ทั้งหมดอยากกลับไทยจึงอยากให้สถานทูตมารับพวกตนเองออกไปจากพื้นที่สีแดงนี้ด้วย
สามีสูญหายเมียยังรอเชื่อมีชีวิต
ตอนสายวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ จ.กำแพง เพชร ไปที่บ้านเลขที่ 86 บ้านเนินสว่าง หมู่ 21 ต. นาบ่อคำ อ.เมืองกำแพงเพชร พบนางใหม่ กาเหว่า อายุ 36 ปี ภรรยานายศรีทัศน์ กาเหว่า อายุ 43 ปี แรงงานไทยที่ไปทำงานปลูกมัน ปลูกอะโวคาโดที่อิสราเอลและครอบครัวติดต่อไม่ได้ แต่มีข้อมูลจากเพื่อนร่วมงานแจ้งมาว่าอาจไม่มีชีวิตอยู่แล้ว หลังคนงานทั้งหมดที่อยู่ด้วยกัน 19 คน ถูกโจมตีจากกลุ่มไม่ทราบฝ่าย นางใหม่เล่าว่าก่อนหน้านี้สามีวิดีโอคอลมาเล่าว่ามีเหตุยิงกัน หากมีเหตุการณ์รุนแรงจะไปหลบในที่ปลอดภัย จากนั้นขอตัวไปหลบระเบิดแล้วไม่สามารถติดต่อได้อีก ต่อมามีคลิปวิดีโอเป็นภาพกลุ่มก่อการร้ายยิงกลุ่มคนที่อยู่ในห้อง คงเดิมค่ะ หนึ่ง สังเกตเห็นชายคนหนึ่งคล้ายสามีรู้สึกตกใจ และมั่นใจว่าน่าจะเป็นสามีเพราะเสื้อผ้าและสีห้องพักกับโซฟาเหมือนกับที่สามีเคยส่งให้ดู ตอนนี้เฝ้ารออย่างมีความหวังตราบใดที่ยังไม่มีการยืนยันว่าเสียชีวิต ส่วนนางสว่าง กาเหว่า อายุ 69 ปี มารดานายศรีทัศน์ เผยว่าตกใจเสียใจจนนอนไม่หลับเพราะเป็นห่วงลูก
นศ.ไทยจากใต้ในอิสราเอลปลอดภัย
ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาส ม.5 ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ผศ.ทวี บุญภิรมย์ ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส มหาวิทยาลัยนราธิวาส เชิญผู้ปกครองนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ ปี 3 จำนวน 30 คน ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ที่ถูกส่งไปเรียนและฝึกทักษะด้านอาชีพที่เมืองอาราวาน ทางตอนใต้ของอิสราเอล เข้าฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล โดยพูดคุยให้ผู้ปกครองได้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ และให้ผู้ปกครองของนักศึกษาทั้ง 30 คนโฟนอินพูดคุยกับบุตรหลานแบบตัวต่อตัว เพื่อคลายความกังวลใจ เนื่องจากผู้ปกครองมีความเป็นห่วงลูกหลานเกรงได้รับอันตรายถึงชีวิต โดยสงครามเกิดขึ้นห่างจากที่พักนักศึกษากว่า 100 กม. ขณะนี้ทุกคนยังอาศัยอยู่ได้มีเจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิด
ช่วยผู้สูญหายได้ 30 คน มีคนไทย 14 ชีวิต
ด้านสำนักข่าวอิสราเอล เนชันแนล นิวส์ ของอิสราเอล รายงานความคืบหน้าการตามหาผู้สูญหายจากเหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ได้ปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลอย่างฉับพลัน ในพื้นที่ภาคใต้และภาคกลางของอิสราเอล ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 7 ต.ค. โดยรายงานว่า ศูนย์บัญชาการฉุกเฉินแห่งชาติของอิสราเอล ที่ประกอบด้วยความร่วมมือจากตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) หน่วยข่าวกรองแห่งชาติอิสราเอล (Shin Bet) และสำนักงานไซเบอร์แห่งชาติอิสราเอล (National Cyber Directorate) เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. วันที่ 9 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ศูนย์บัญชาการฉุกเฉินฯ ได้รับแจ้งข้อมูลจากสายด่วนจนสามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ของผู้สูญหายว่า พบอยู่ในเมืองไอน์ ฮัชโลซา ทางตอนใต้ของฉนวนกาซาและได้ส่งกองกำลังป้องกันอิสราเอลเข้าช่วยเหลือผู้สูญหายดังกล่าวได้เมื่อเวลา 21.52 น. ตามเวลาท้องถิ่น ผู้สูญหายที่รอดชีวิตกลุ่มนี้มีอยู่ 30 คน ปลอดภัยดี ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 14 คน ชาวอิสราเอล 16 คน ทั้งหมดถูกส่งตัวไปพักยังที่ปลอดภัยแล้ว
ตร.อิสราเอลสืบหาพิกัดบุกช่วยไว้ได้
ส่วน นสพ.ฮาอาเร็ตซ์ของอิสราเอลระบุว่า กองกำลังป้องกันฯแถลงว่า ผู้สูญหายทั้ง 30 คน ซ่อนตัวในเมืองไอน์ ฮัชโลซา ใกล้กับพรมแดนฉนวนกาซาตั้งแต่เช้าของวันที่ 7 ต.ค. ขณะเกิดเหตุบุกโจมตีของนักรบฮามาส โดยตำรวจได้รับแจ้งข้อมูลตำแหน่งที่ผู้สูญหายเหล่านี้อยู่จึงเข้าไปช่วยเหลือ ขณะที่สำนักข่าวการ์เดียนของอังกฤษระบุว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทั้ง 30 คน ซ่อนตัวที่ใดและด้วยวิธีใด พร้อมระบุว่า กองกำลังป้องกันฯปฏิเสธให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับสำนักข่าวดังกล่าวของอังกฤษ นอกจากนี้ กองทัพอิสราเอลปรับยอดผู้เสียชีวิตฝ่ายอิสราเอลเป็นมากกว่า 1,200 ศพ บาดเจ็บกว่า 3,000 คน ขณะที่หน่วยสาธารณสุขปาเลสไตน์ปรับยอดผู้เสียชีวิตฝ่ายปาเลสไตน์เป็นอย่างน้อย 950 ศพ บาดเจ็บกว่า 5,000 คน ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ฝ่ายเพิ่มเป็นมากกว่า 2,150 ศพ บาดเจ็บกว่า 8,000 คน
สื่อฝรั่งเศสรายงานไทยตายเป็น 20 ศพ
สำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศสรายงานเมื่อ 11 ต.ค. ว่า นางกาญจนา ภัทรโชค โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศไทย แถลงปรับยอดผู้เสียชีวิตของชาวไทยเป็น 20 ศพ บาดเจ็บเพิ่มเป็น 13 คน รวมถึงมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการจากคนไทยในอิสราเอลว่า ชาวไทยถูกจับเป็นตัวประกันเพิ่มอีก 3 คน รวมเป็น 14 คน นอกจากนี้ ผู้บาดเจ็บกลุ่มแรกจะเดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 12 ต.ค. และมีชาวไทยกว่า 5,000 คน ยื่นคำร้องขอกลับประเทศ